มุมมองที่ต้องเรียนรู้เมื่อโลกหมุนเร็วกว่าความเป็นจริง
การบอกว่าโลกหมุนเร็วนั้นดูจะเป็นคำกล่าวที่น้อยกว่าความเป็นจริงไปมาก โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในการขับเคลื่อนชีวิตเป็นเสียส่วนใหญ่ เราจึงต้องยอมรับว่า บางทีสมองของคนเราก็ไม่ได้ถูกสร้างให้เข้าใจการเปลี่ยนแปลงแบบความเร็วสูงที่โลกกำลังเผชิญอยู่ตอนนี้ได้อย่างทันทีทันควัน โดยปีเตอร์ ไดมอนดิส หนึ่งในผู้ก่อตั้งและประธาน Singularity University ได้กล่าวในงานสัมนางานหนึ่งเกี่ยวกับการอยู่รอดในยุค disruption นี้ไว้ว่า
“การเปลี่ยนแปลงอันรวดเร็วของโลกยุคปัจจุบันนำไปสู่ความไม่เข้าใจ เพราะสิ่งที่เราเห็นอยู่ตอนนี้ไม่ใช่การเติบโตแบบทีละก้าวอีกต่อไปแล้ว”
จากคำกล่าวนี้เองทำให้เราต้องหันมาทำความเข้าใจเพื่อนำตัวเองก้าวเข้ายุคสมัยใหม่ให้ได้ บทความนี้จึงอยากนำเสนอมุมมองที่ควรเรียนรู้ไว้ เพื่อนำไปประยุกต์และเพื่อความอยู่รอดในสังคมยุค Disruption
Disruption ถ้าแปลแบบตรงตัวก็คือ “หยุดชะงัก” ยกตัวอย่างในยุคสมัยนี้คือ Digital Disruption ซึ่งเป็นสภาวะที่ธุรกิจถูกทำให้หยุดชะงักในยุคที่เทคโนโลยีดิจิทัลพัฒนาอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเกิดจากการพัฒนาเทคโนโลยีแบบก้าวกระโดด การไม่พัฒนาในตัวองค์กร หรือการมี “Disruptive Challenge” (ผู้เข้ามาแข่งขันในธุรกิจในยุคดิจิทัล) เป็นต้น ปัจจัยเหล่านี้ได้เข้ามาในโลกธุรกิจมากขึ้นและทำให้เกิดการสั่นสะเทือนในวงการธุรกิจเป็นอย่างมาก
AI ไม่ได้ฆ่าใคร ระบบที่ไม่ยอมเปลี่ยนแปลงต่างหากที่กำลังฆ่าคุณ
หากคุณได้เข้าไปอยู่ในวงสนทนาเรื่องเทคโนโลยีและความก้าวหน้าแบบก้าวกระโดด คงจะได้พบเจอกับหนึ่งในคำถามสุดฮิต “เทคโนโลยี และ AI (Artificial Intelligence) จะเข้ามาทำให้เราตกงานหรือไม่” ในขณะที่คำตอบนั้นอาจพอเดาได้ แต่เหตุผลของพวกเขาจะทำให้คุณแปลกใจ เพราะ “งานของพวกคุณต่างหากที่กำลังฆ่าตัวคุณเอง” หรือถ้าพูดให้ชัด คือ ระบบขั้นตอนต่างๆ คือสิ่งที่ทำให้งานกำลังตายจากไป
มีแนวคิดหนึ่งที่ฉันได้เรียนรู้มาจากผู้บริหารหลายๆคน กล่าวไว้ว่า หากคุณต้องการที่จะอยู่รอด คุณต้องเรียนรู้ที่จะใช้ประโยชน์จากมัน จริงๆแล้วเราไม่จำเป็นต้องหยุดนวัตกรรมเพื่อให้มนุษยชาติอยู่รอด แต่เราควรนำนวัตกรรมนั้นมาเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิตเพื่อเอื้อประโยชน์สูงสุดต่อตัวเราเอง แน่นอนว่าเทคโนโลยีและนวัตกรรมล้ำสมัยต่างๆนั้นอาจจะสะดวกจนน่ากลัวเกินไปในมุมมองของมนุษย์คนทำงาน แต่หากลองปรับมุมมองและเปิดใจให้มากขึ้นสักนิด เราจะเห็นช่องที่ว่า ความสะดวกสบายนั้นแลจะทำให้เราทำงานได้ง่ายขึ้น หากเราใช้กระบวนการในการทำงานน้อยลง เสียแรงและเวลาน้อยลง จะไม่เป็นผลดีต่อศักยภาพและประสิทธิภาพการทำงานในระยะยาวหรอกหรือ
ยกตัวอย่างการนำเทคโนโลยีหนึ่งมาเอื้อประโยชน์ในการทำงานให้สะดวกและรวดเร็วขึ้นในวงการแปลภาษา คือ การใช้โปรแกรมช่วยแปล (CAT Tool: Computer-assisted translation) โดยการทำงานของ CAT Tool สามารถย่นระยะเวลาการแปลประโยคเดิมซ้ำๆได้เป็นอย่างดี เช่น เมื่อผู้แปลป้อนคำแปลเข้าไป โปรแกรมจะทำการจับคู่ประโยคต้นทางและประโยคปลายทางเป็น 1 คู่ประโยค (1 TU: Translation Unit) และเมื่อแปลไปเรื่อยๆ หากโปรแกรมเจอประโยคเดิมที่เคยแปลไปแล้วก่อนหน้านี้ ตัวโปรแกรมจะดึงคำแปลจากฐานข้อมูลคำแปลมาให้โดยอัตโนมัติ เพื่อให้นักแปลทำการตรวจสอบแก้ไขได้ตามความเหมาะสม โดยข้อมูลที่แปลแล้วจะถูกเก็บบันทึกไว้ในฐานข้อมูลที่เรียกว่า “หน่วยความจำการแปล / TM: Translation Memory” เมื่อใดก็ตามที่นักแปลต้องการนำ TM มาใช้งานอีกครั้งในงานแปลชิ้นถัดๆ ไปก็สามารถเรียกดูคำแปลจาก TM ได้อีกด้วย ซึ่งนอกจากทำให้แปลรวดเร็วยิ่งขึ้นแล้ว โปรแกรมช่วยแปลยังช่วยให้คำแปลมีความสอดคล้องและสม่ำเสมอกันตลอด โดยลดข้อผิดพลาดจากการแปลประโยคต้นทางเดิมโดยใช้คำแปลที่แตกต่างกันทั้งที่ต้นฉบับเหมือนๆ กันอีกด้วย
นี่ไม่ใช่ปรากฎการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นในระบบเศรษฐกิจใหม่
เมื่อเทียบระหว่างจีนและยุโรปในยุคโบราณ เมื่อครั้งที่จีนเป็นสังคมที่ยึดกฎเกณฑ์และระเบียบราชการเคร่งครัด ในขณะที่ยุโรปยังเป็นการรวมกลุ่มแบบกระจัดกระจายของชาติและวัฒนธรรมต่างๆ โดยจากกลุ่มความคิดที่กระจัดกระจายนี้เอง ที่ทำให้ยุโรปก้าวขึ้นนำ ด้วยการผสมผสานระหว่างแนวคิดที่ต่างกัน ทำให้สามารถเกิดวงจรของการทดลองอย่างรวดเร็ว และนำไปสู่ความสำเร็จในเวลาต่อมา เช่นเดียวกับการนำนวัตกรรมล้ำสมัยมารวมกับแนวคิดการทำงานในองค์กรจะทำให้การทำงานที่ยากนั้นง่ายขึ้น ปล่อยให้เทคโนโลยีทำงานในส่วนที่เราต้องเสียเวลาคิดจุกจิกจนกระทบงานอื่น แล้วให้ตัวเราเองได้มีเวลาและโอกาสไปทำงานเพื่อพัฒนาในขั้นตอนอื่นต่อไปแบบนั้นน่าจะดูดีกว่า
แม้ disruption จะเข้ามาสร้างการเปลี่ยนแปลง แต่เราต้องไม่ลืมว่าการเปลี่ยนแปลงนี้เป็นการเปลี่ยนแปลงในด้านของรูปแบบและแนวทางในการทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง แก่นหรือตัวตนของสิ่งนั้นไม่ได้เปลี่ยนไป ธุรกิจที่ถูก disrupt จึงต้องกลับมาคิดว่า เราจะเปลี่ยนแปลงตัวเราเองอย่างไรเพื่อให้รองรับกับภาพใหม่ของโลกนี้ ต้องทำการบ้านว่าคนต้องการอะไร หาว่าตัวตนใหม่ของเราในวันนี้คืออะไร เพราะลมหายใจของเรายังเหมือนเดิม แต่สิ่งที่ต้องเปลี่ยนคือเลนส์ในการมองเห็น
การ disrupt อยู่รอบตัวเราและพร้อมจะเข้ามาส่งผลกระทบกับตัวเราทุกขณะ คุณสามารถเลือกได้ว่า จะเป็นผู้ถูก disrupt หรือจะเป็น disruptive challenger เพราะฉะนั้นการที่คุณมีกลยุทธ์ที่หลากหลาย จะเป็นวิธีที่จะช่วยทำให้ธุรกิจของคุณก้าวไปข้างหน้าได้อย่างเหนือคู่แข่ง สิ่งที่ฉันอยากฝากให้ตระหนักไว้เสมอ คือ อย่าพึ่งกลัวการ disruption จากเทคโนโลยีมากจนเสียขวัญ หากเราเรียนรู้ว่าขั้นตอนในการ distruption นั้นเกิดจากเหตุอันใดและจะส่งผลอย่างไร เราเองก็จะเตรียมตัวเองได้ทันอยู่เสมอ เราคงเลี่ยงการเติบโตของเทคโนโลยีไม่ได้ สิ่งที่เราทำได้ดีที่สุดในทุกช่วงเวลา คงเป็นการเรียนรู้จากมันแล้วนำมาปรับเข้ากับกระบวนการทำงานของเราให้ทันโลกอยู่เสมอนั่นเอง
ผู้เขียน
พรชนก วัฒนาณุฐการ (ปู)
ผู้ช่วยฝ่ายการตลาด