ประเด็นที่น่าสนใจ ทำไมคนไทยถึงอายที่จะพูดภาษาอังกฤษ
“เวลาคนไทยพูดภาษาอังกฤษ คนที่ติติงเรื่องสำเนียงส่วนใหญ่คือคนไทยด้วยกันเอง เจ้าของภาษาหรือต่างชาติ(ทั่วโลก)น้อยมากๆที่จะให้ความสำคัญกับสำเนียง ภาษาใช้เพื่อการสื่อสาร สื่อสารกันรู้เรื่องคือสำเร็จวัตถุประสงค์ โฟกัสให้ถูกจุด เด็กไทยจะได้เลิกอายที่จะพูด กล้าพูดกล้าสื่อสารกันเถอะครับ ภาษานั้นสำคัญ” – ไอซ์ ศรัณยู
ปัญหาหนึ่งที่มักพบได้บ่อยในคนไทยที่เรียนภาษาอังกฤษคือ ไม่สามารถสื่อสารได้ หรือไม่สามารถนำมาใช้ได้ในชีวิตจริง ประเด็นที่น่าสนใจคือ คนไทยหลายคนเรียนเริ่มเรียนภาษาอังกฤษกันมาไม่ต่ำกว่าห้าปีหรือสิบปีขึ้นไป บางคนเริ่มท่องพยัญชนะ เอ บี ซี ตั้งแต่อยู่ชั้นอนุบาล หรือบางคนอาจเริ่มเรียนกันช่วงประถมศึกษา ตลอดจนถึงระดับมหาวิทยาลัย หากจะว่ากันไปแล้วระยะเวลาที่ใช้เรียนขนาดนี้นั้น ก็น่าที่จะพูดและใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสารกันได้ดีประมาณหนึ่งเลยทีเดียว แต่แล้วอะไรเป็นปัจจัยที่ทำให้คนไทยบางคนถึงพูดภาษาอังกฤษไม่ได้สักที บทความนี้จึงอยากเสนอมุมมองที่แสดงให้เห็นถึงอุปสรรคในการใช้ภาษาอังกฤษของคนไทยที่ทำให้ส่วนใหญ่เกิดความเขินอายที่จะพูดจนนำไปสู่การเรียนรู้ที่สูญเปล่าเลยก็ยังมี เนื้อหาต่อไปนี้ ฉันหวังว่าจะทำให้ผู้อ่านได้ตระหนักถึงข้อเท็จจริงและความจำเป็นของการเรียนรู้และการนำไปใช้สื่อสารได้ในชีวิตจริงโดยปราศจากความเขินอายหรือไม่มั่นใจ อยากให้ทุกคนมั่นใจในสิ่งที่ตัวเองเรียนรู้ เพื่อที่จะได้นำไปใช้ประโยชน์และพัฒนาศักยภาพของตนเองได้ต่อไป
หากคนต่างชาติจะไม่เข้าใจสิ่งที่คุณพูดนั้นมันเป็นเรื่องธรรมดา
การที่คนๆนึงไม่เข้าใจคุณนั้นไม่ได้แปลว่าคุณพูดไม่รู้เรื่อง แต่เป็นเพราะพื้นฐานและประสบการณ์ที่ต่างกัน เขาจึงชินกับการออกเสียงอีกแบบหรือการใช้คำศัพท์ที่ต่างกันไป ตัวอย่าง เช่น คนอังกฤษสื่อสารกับคนอเมริกัน ถึงแม้ว่าทั้งสองชาตินี้เป็นเจ้าของภาษาเหมือนกัน แต่ก็ยังมีปัญหาในการพูดคุยและยังงงกับคำศัพท์ที่แตกต่างของกันและกันอยู่เสมอ แล้วอย่างคุณที่เป็นคนเรียนภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สอง เป็นไปได้หรือที่จะไม่มีปัญหาในการสื่อสารเป็นภาษาอังกฤษเลย ทั้งนี้ทั้งนั้น นักเรียนไทยส่วนใหญ่ก็ยังคิดว่าเป็นเพราะตนเองและโทษตัวเองเวลาที่เกิดปัญหานี้ ทำให้อาย ไม่กล้าที่จะใช้ภาษาอังกฤษในครั้งต่อไป
อิทธิพลจากคนรอบข้างที่ทำให้เกิดวามไม่มั่นใจ
เหตุผลนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนไทยขาดความมั่นใจไปเสียเยอะ โดยเฉพาะเด็กไทยส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญกับคนรอบข้าง เมื่ออยู่ในที่สาธารณะจะต้องวางตัวให้ไม่มีข้อผิดพลาด กลัวการถูกมองด้วยสายตาประหลาด กลัวหาว่าดัดจริต ไม่ชอบการถูกล้อหรือเยาะเย้ย เลยไม่กล้าใช้ภาษาอังกฤษในการพูด ซึ่งเหตุผลที่กล่าวข้างต้นเหล่านี้เป็นเหตุหลักๆที่ทำให้คนไทยไม่กล้าที่จะสื่อสารภาษาอังกฤษไม่ว่าจะเป็นกับคนไทยด้วยกันเอง หรือกับชาวต่างชาติ
คนไทยส่วนมากมักคนกลัวคนอื่นในสังคมที่มาตัดสิน จนทำให้เป็นอุปสรรคในการพัฒนาทักษะของตนเอง ทั้งๆที่ความจริงแล้ว ถ้าอยากพูดเก่งขึ้นหรือคล่องขึ้น นั้นไม่ยากเลย คุณแค่ต้องฝึกพูดบ่อยๆก็เท่านั้นเอง ถ้ามัวแต่รอและอยู่เฉยๆเพื่อให้เก่ง เช่นนั้นแล้วความเป็นไปได้ก็คือแทบจะไม่มีอยู่เลย สิ่งที่ควรตระหนักไว้เสมอคือ คนที่หวังดีกับคุณจริง จะสนับสนุนให้คุณได้ใช้ภาษาอังกฤษ เพราะนอกจากจะทำให้คุณทำงานคล่องขึ้นแล้ว ภาษาก็เป็นส่วนหนึ่งที่จะเปิดโอกาสในการพัฒนาตนเองได้มากขึ้นอีกด้วย
หยุดวิ่งหาความสมบูรณ์แบบ หากต้องการที่จะพัฒนา
หลายๆคนคิดว่า หากพูดได้แบบเจ้าของภาษาคงจะดี แต่แท้จริงแล้ว คุณไม่ต้องเก่งขนาดนั้นก็สามารถรับโอกาสดีๆ หรือเข้าทำงานในที่ที่ต้องการได้ ซึ่งคุณต้องเข้าใจก่อนว่า คนทุกคนมีสไตล์การพูดไม่เหมือนกัน และไม่จำเป็นที่จะต้องเหมือนคนอื่น หรือเหมือนกับเจ้าของภาษาไปเสียหมด ขอเพียงแค่คุณพยายามสื่อสารออกมา และทำให้สิ่งที่คุณสื่อสารนั้นเข้าใจได้ เท่านั้นก็ถือว่าเพียงพอแล้ว
ภาษานั้นมีความหลากหลายในตัวของมันเอง ในสมัยนี้ภาษาพูดและภาษาเขียนก็ไม่ได้ถูกต้องตรงตามหลักไวยากรณ์เสมอไป ซึ่งสิ่งนี้เป็นเสน่ห์ในตัวของมัน ในความหลากหลายนี้ สะท้อนให้เห็นถึงโอกาสที่หลากหลายอยู่ด้วย ภาษาอังกฤษไม่ได้ถูกกำหนดมาให้ใช้ในแวดวงเจ้าของภาษาแต่เพียงผู้เดียว อย่างที่คุณสามารถสังเกตเห็นได้ว่า ภาษาอังกฤษนั้นมีอยู่หลายสำเนียงและหลายรูปแบบ ปรับเปลี่ยนไปตามผู้ใช้ และนั่นก็ยังสามารถใช้สื่อสารได้ ด้วยเหตุผลนี้ ฉันจึงอยากให้ทุกคนเข้าใจว่า ไม่ว่าคุณจะพูดภาษาอังกฤษในสำเนียงใด ตะกุกตะกัก หรือช้ากว่าเจ้าของภาษาเพียงใด แต่นั่นก็สามารถนับได้ว่าเป็นการสื่อสารที่ถูกต้อง การกลัวความผิดพลาด กลัวการไม่เหมือนเจ้าของภาษานั่นเอง ที่เป็นสิ่งที่ปิดกั้นให้ตัวเรานั้นไม่พัฒนา และสุดท้ายจะเป็นคนที่อายในการใช้ภาษาอังกฤษไปในที่สุด
ผู้เขียน
พรชนก วัฒนาณุฐการ (ปู)
ผู้ช่วยฝ่ายการตลาด