“ฉันแค่อยากเดินช้าลง เพื่อให้เห็นสิ่งอื่นมากขึ้น” วัฒนธรรม Gap Year ในไทยที่ส่งผลกระทบต่อนักศึกษาจบใหม่
“เรียนจบแล้วยังไงต่อดีนะ”
“ยังไม่รู้เลยว่าจริงๆอยากทำอะไร”
“เรียนจบแล้ว ทำไมยังไม่ทำงานอีก ช้ากว่าคนอื่นเขาแล้วนะ”
คงจะเป็นประโยคที่นักศึกษาจบใหม่ทุกคนต้องประสบพบเจอกันบ้าง ทั้งการตั้งคำถามกับตัวเอง หรือจากคนรอบข้าง ซึ่งมักทำให้พบว่า เราต่างก็ยังไม่สามารถตอบคำถามเหล่านั้นได้อย่างมั่นใจเท่าที่ควร มิหนำซ้ำข้อสงสัยในตัวเองก็ไม่ได้ถูกคลี่คลายสักเท่าไร ว่าเหตุใดนักศึกษาจบใหม่ในประเทศไทยถึงได้รู้สึกเคว้งคว้าง มึนงง หรือแม้กระทั่งหลงทางหลังจากที่เรียนจบ จนวันหนึ่งเราต้องถามย้ำกับตัวเองว่า สิ่งที่เรียนมานั้นเราชอบมันจริงๆหรือเปล่า เราต้องการอะไร หรือว่าชีวิตเรานั้น ต้องเดินไปในทางไหนกันแน่ อาการเหล่านี้ มีคำเรียกว่า ความเคว้งคว้างหลังเรียนจบ (Post-graduate blues) มักเกิดจากการที่ใช้ชีวิตในห้องเรียนมาโดยตลอด เมื่อช่วงเวลาในห้องเรียนจบลง จึงไม่รู้ว่าควรตัดสินใจอย่างไรต่อไป หรือเดินไปในทางไหน เพราะตลอดเวลาที่ผ่านมาเราต่างไม่ได้มีเวลาให้หยุดพัก ฉุกคิด หรือพิจารณาถึงสิ่งที่ชอบและสิ่งที่อยากทำ
เราต่างถูกค่านิยมและกรอบของสังคมบังคับให้เราไม่มีช่องว่างในการหยุดพักการเรียน หรือที่เรียกว่า ไม่มี Gap Year เพราะเราต่างก็รู้ดีว่า Gap Year ในประเทศไทยยังไม่เป็นที่นิยม หรือคนที่พักการเรียนไปต่างถูกมองว่าเป็นคนที่ไม่ประสบความสำเร็จในการศึกษา แต่แล้วใครกันที่เป็นคนกำหนดว่าจริงๆแล้ว ชีวิตของคนๆหนึ่งต้องเดินไปทางไหน หากไม่ใช่ตัวเราเอง ฉันเลยอยากเสนอมุมมองเกี่ยวกับ Gap Year ให้เห็นภาพกันสักหน่อยว่า จริงๆแล้วแค่การที่เราเดินช้าลง ไม่ได้แปลว่าเราล้ม แต่แปลว่าเราแค่ต้องการเวลาให้ตัวเองได้มองเห็นสิ่งอื่นๆในชีวิตมากขึ้นเท่านั้นเอง
Gap Year ช่องว่างระหว่างการค้นพบตัวเอง
เดิมที Gap Year เป็นวัฒนธรรมที่เป็นที่นิยมในหมู่นักเรียนชาวตะวันตก ความหมายของมันคือ การพักการเรียนหลังจากจบมัธยมปลายก่อนจะเข้าสู่ชีวิตมหาลัย เพื่อให้ตนเองได้ไปค้นหาประสบการณ์ ค้นหาตัวเอง ตลอดจนเรียนรู้ชีวิตก่อนที่จะเริ่มต้นต่อไปในการศึกษาขั้นสูงกว่า โดยเวลาที่เหมาะสมสำหรับ Gap year จะอยู่ที่หนึ่งปีเป็นส่วนมาก ภายหลังมา การมี Gap Year ไม่ได้นิยมเฉพาะหลังเรียนจบมัธยมปลาย สำหรับบางกรณีก็ใช้ในช่วงจบมหาวิทยาลัยก่อนจะเข้าสู่วัยทำงาน
พอรู้ความหมายของ Gap Year แล้ว เราน่าจะพอเข้าใจได้ว่า ค่านิยม Gap Year ในสังคมไทยยังไม่เป็นที่ยอมรับในแง่บวกสักเท่าไรนัก เพราะสำหรับนักเรียนนักศึกษาชาวไทยแล้ว การที่เรียนจบมัธยมปลายแล้วไม่เรียนต่อ หรือการจบมหาวิทยาลัยแล้วไม่หางานทำ ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่สังคมจะยอมรับ เราอาจถูกตีความไปว่าเป็นบุคคลที่ล้มเหลว ไม่ประสบความสำเร็จในการศึกษาหรือการใช้ชีวิต ทั้งด้วยสภาวะสังคม เงื่อนไข ทางครอบครัวและเศรษฐกิจ ที่บังคับและปลูกฝังให้คนรีบประสบความสำเร็จ รีบเรียนจบ รีบมีงานทำ แต่แล้วใครกันแน่ ที่เป็นคนตีความการประสบความสำเร็จในชีวิตของคนๆหนึ่ง หากไม่ใช่ตัวเราเองที่รู้ดีที่สุดว่าเรานั้นกำลังทำอะไร เพื่ออะไร และเพราะอะไร
เราต่างถูกสังคมบังคับให้เดินไปตามกรอบเวลาที่ควรจะเป็นจนสูญเสียแนวทางของตัวเองไปบ้างก็มี สูญเสียความรักและความหลงไหลในการใช้ชีวิตตามแบบที่ใฝ่ฝันไปมากก็มี เพียงเพราะระบบการศึกษาในแบบที่สังคมต้องการนั้นไม่มีช่องว่างให้เราได้พักหายใจและคิดทบทวนในสิ่งที่เราต้องการ รวมถึงทางที่อยากเดินไปต่อ ส่งผลให้เรามักพบกันบ่อยว่าทำไมนักศึกษาไทยจบใหม่บางส่วน จบออกมา ทำงานไม่ตรงสายบ้าง คิดไม่ออกว่าจะทำงานอะไรบ้าง หรือต้องทนทำงานในสิ่งที่ตัวเองไม่ชอบก็ยังมี
เพราะ Gap ของแต่ละคนนั้นไม่เหมือนกัน
เนื่องจากต้นทุนของแต่ละคนนั้นไม่เท่ากัน เราจึงเข้าใจได้ว่าทำไมนักศึกษาบางคนจบมาแล้วจึง ต้องรีบหางานทำ ด้วยสภาวะทางการเงินของครอบครัวก็ดี หรือพ่อแม่ไม่ส่งเงินให้หลังจาก เรียนจบแล้วก็ดี ทำให้พวกเขาเหล่านี้ไม่มีโอกาสที่จะได้หยุดพักเพื่อไตร่ตรองสิ่งใดๆมากนัก เขาจำเป็นที่จะต้องดีดตัวเองไปก่อน ไปอยู่ในที่ใดก็ได้ที่ทำให้เขามีโอกาส เพียงแค่เพราะโอกาสและต้นทุนของคนเรา นั้นมีไม่เท่ากัน เพียงเท่านั้นจริงๆ แต่การที่ต้องพาตัวเองไปอยู่ในที่ใดก็ได้สักที่นี้เองนั่นแหละ ดันเป็นจุดเริ่มต้นของสภาวะอื่นๆที่ตามมา เช่น การอดทนอยู่ในสภาพสังคมที่ตนไม่ได้ชอบ การทำงานที่ตนไม่ถนัด หรือการก้มหน้ารับในสิ่งที่ตนเองไม่ได้มีตัวเลือกมากนัก
ช่วงหนึ่งขณะที่ฉันยังศึกษาต่ออยู่ที่ต่างประเทศ ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่อง การศึกษาต่อมหาวิทยาลัยกับเพื่อนชาวเกาหลีท่านหนึ่ง ซึ่งได้ตกตะกอนประเด็นที่น่าสนใจมาก โดยเพื่อนของฉันกล่าวว่า
“ตัวฉันนั้นหลังจากเรียนจบมัธยมปลายก็ไม่ได้มีความคิดที่อยากต่อมหาวิทยาลัย ณ เดี๋ยวนั้น เลยสักทีเดียว มันเครียดเกินไป มันเหมือนเธอต้องแบกชะตาชีวิตและโลกทั้งใบไว้เพื่อเหตุผลเพียงข้อเดียว ถ้าหากเธอพอจะทราบข่าวเกี่ยวกับซูนึง*ของเกาหลีอยู่บ้าง นั่นเป็นสิ่งที่ฉันไม่อยากเอามาคิดมากที่สุด ฉันโชคดีที่พ่อแม่ฉันเข้าใจและสนับสนุนเมื่อฉันเอ่ยปากขอว่า ยังไม่เรียนต่อได้ไหม ขอมี Gap Year สักปีได้หรือเปล่า แล้วหลังจากนั้นฉันจะกลับมาสอบเข้ามหาวิทยาลัยและเรียนต่ออย่างแน่นอน ฉันให้เหตุผลกับพ่อแม่ไปว่า อยากไปค้นหาตัวเองให้มากกว่านี้ อยากมีโอกาสได้เรียนในสิ่งที่ตัวเองมีใจกับมันจริงๆ ไม่ใช่เรียนเพียงเพราะสังคมกำหนดกรอบเวลาให้เรียน ฉันอยากเรียนไปด้วยแล้วมีความฝันกับมันไปด้วย ฉันอยากให้อนาคตของฉันเป็นสิ่งที่ฉันเลือกมาแล้วว่ามันควรจะเป็นไปทางใด ไม่ใช่การมีอนาคตตามที่สังคมบังคับให้มี นั่นมันไม่ใช่การใช้ชีวิตเอาเสียเลย ฉันแค่อยากเดินช้าลง เพื่อให้เห็นสิ่งอื่นมากขึ้น”
หลังจากได้ยินสิ่งที่เพื่อนฉันพูด ฉันรู้ได้เลยว่าต้นทุนชีวิตและโอกาสของคนเรานั้นต่างมีมาไม่เท่ากันจริงๆ ไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถร้องขอในสิ่งที่ใจตนต้องการได้ หากเราสามารถเลือกที่จะเป็นหรือทำได้ เขาก็คง เลือกทางที่สบายใจที่สุดเหมือนเพื่อนชาวเกาหลีของฉันคนนี้กระมัง
At least, we are all slowly growing up in our ways
การมีหรือไม่มี Gap Year ของคนเราล้วนต่างขึ้นอยู่กับปัจจัยและเงื่อนไขตามที่ฉันกล่าวมาข้างต้น ฉันอยากให้คนที่มีโอกาสสร้าง Gap Year คิดว่าพวกคุณนั้นไม่ได้ช้าเพราะล้มเหลว แต่คุณแค่อยากลอง เปลี่ยนเส้นทางในการเดินทางดูบ้าง เผื่อได้ค้นพบกับอะไรที่มันตอบโจทย์ชีวิตคุณได้มากขึ้น ส่วนคนที่ไม่มี โอกาสฉันก็อยากให้พวกคุณคิดว่า อย่างน้อยเส้นทางที่คุณมีตอนนี้มันก็ยังมีโอกาสเปลี่ยนแปลงได้เสมอ หากคุณนั้นต้องการ แม้ว่า ณ เวลานั้นคุณอาจจะไม่ได้ชื่นชมชีวิตตัวเองมากเท่าที่ควร แต่ลองตั้งหวัง อนาคตในเส้นทางใหม่ๆดูก็ไม่เสียหาย การมี Gap Year ในช่วงชีวิตการทำงานมันก็ไม่ได้แย่ หากมันแลกมาด้วยความสบายใจและความฝันที่ยังคงอยู่ เราทุกคนล้วนค่อยๆเติบโตขึ้นในทางที่เราเลือกเดิน อย่าคิดว่าตัวเองไปไหนไม่ได้เพียงเพราะสังคมบีบบังคับให้เราอยู่ คนเรามีตัวเลือกให้ตนเองได้เสมอ หากคุณกล้าที่จะเลือกและลองเปิดใจ เพราะฉะนั้น ฉันอยากให้คุณมั่นใจในก้าวเล็กๆของคุณ ไม่ว่าจะก้าวไปในทางไหน จงภูมิใจในสิ่งที่ตนเองทำ จังหวะชีวิตของคนเราล้วนต่างกัน อย่าให้คนใดคนหนึ่งมาเป็นเกณฑ์ตัดสินชีวิตของคุณเลย
*ซูนึง สอบเข้าสู่มหาวิทยาลัยของประเทศเกาหลีใต้ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในเดือน 11
ผู้เขียน
พรชนก วัฒนาณุฐการ (ปู)
ผู้ช่วยฝ่ายการตลาด