การแปลภาษา การทำความรู้จักคนแปลกหน้าในรูปแบบหนึ่ง
มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งได้กล่าวถึงการแปลภาษาไว้ให้ฉุกคิดว่า “ท้ายที่สุดแล้วอะไรคือความหมายของการแปลภาษา และขั้นตอนของการแปลภาษาคืออะไร สิ่งเหล่านั้นมีอยู่เพื่อจุดประสงค์ใด” หากกล่าวโดยภาพกว้างตามที่คนส่วนใหญ่เข้าใจได้ การแปลภาษาคือการแปลสารรูปแบบหนึ่งให้ออกมาในอีกรูปแบบหนึ่ง โดยคงความหมายเช่นเดิมเพื่อใช้สื่อสารระหว่างกลุ่มสองกลุ่มอันมีพื้นฐานในการรับสารต่างออกไป ทั้งนี้ทั้งนั้นคำอธิบายในแง่ทฤษฎีนี้เป็นอันเข้าใจได้ แต่หากมองลึกกว่านั้น ขั้นตอนของการแปลภาษาคือการถอดความหมายของคำจากภาษาหนึ่งไปอีกภาษาหนึ่งเท่านั้นจริงหรือ แน่นอนว่ามันมีอะไรที่มากกว่านั้น เพราะถ้าเป็นเพียงการถอดความหมายของคำ ฉันเชื่อว่าทุกคนคงสามารถทำได้โดยที่ไม่ต้องพึ่งประสบการณ์มากมายเพียงแค่คุณมีพจนานุกรมสักเล่มเท่านั้น แต่การแปลภาษาเป็นสิ่งที่ลึกซึ้งกว่านั้นมาก การที่นักแปลคนหนึ่งจะสามารถแปลออกมาได้อย่างสมบูรณ์แบบไม่เพียงแต่ต้องอาศัยทักษะความรู้ทางด้านภาษา แต่ยังต้องอาศัยความคุ้นเคยที่มีต่อภาษาเหมือนเป็นเพื่อนหรือคนรู้จักกัน เช่นนั้นเอง การแปลภาษาจึงอาจเปรียบได้ว่าเป็นการทำความรู้จักคนแปลกหน้าในรูปแบบหนึ่ง
นิยามของคนแปลกหน้าไม่ใกล้เคียงกับนักท่องเที่ยวที่ผ่านมาแล้วผ่านไปเท่าไรนัก อ้างอิงจากคำพูดของ Georg Simmel ที่กล่าวว่า คนแปลกหน้าคือ “คนที่มาถึงวันนี้และพรุ่งนี้ก็ยังอยู่” หรืออาจเป็นคนที่อยู่ใกล้ๆโดยที่ไม่ใช่คนนอกเสียทีเดียว ซึ่งสิ่งที่เรียกว่าแปลกสำหรับมนุษย์เรามักไม่ได้นับจากความแตกต่างทางธรรมชาติ เช่น รูปลักษณ์ หรือหน้าตาที่ต่างไปเป็นหลัก แต่มักนับว่าแปลกต่อกันจากปฏิสัมพันธ์ที่มีมากกว่า ดังนั้น คนแปลกหน้าในที่นี้สามารถหมายถึงผู้คนที่เราไม่คุ้นเคยในเชิงมนุษยสัมพันธ์
เปรียบภาษาเป็นคน
หากเปรียบภาษาเป็นคน ภาษาคือตัวแทนของผู้คนที่มาจากหลายเชื้อชาติ ต่างถิ่น ต่างคำพูด และแน่นอนว่าการเรียนรู้เพื่อทำความรู้จักกับคนต่างถิ่นเพื่อให้สื่อสารเข้าใจตรงกันได้นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายที่สามารถทำได้ภายในหนึ่งหรือสองวัน ภาษาก็เป็นเช่นนั้น คุณต้องให้เวลาในการศึกษามันเหมือนศึกษาเพื่อนมนุษย์คนหนึ่ง ภาษามีความสวยงามและความละเอียดอ่อนในตัวมันเอง อาจเหมือนลักษณะนิสัยของคนที่ล้วนมีความละเอียดอ่อนต่างกันออกไป ดังนั้นคุณต้องมีความใจเย็นอยู่สักหน่อย
ในส่วนของการแปลภาษา จะเป็นกระบวนการหลังจากที่คุณรู้จักภาษานั้นเป็นอย่างดีแล้วจนเปรียบเหมือนเพื่อนสนิท แต่ก่อนจะมาเป็นเพื่อนสนิทกันได้นั้นก็คงไม่ใช่เรื่องง่ายแน่นอน เพราะนอกจากจะต้องศึกษาลักษณะนิสัยของกันและกัน ยังต้องอาศัยความเข้าใจอย่างมากเพื่อเข้าใจพื้นฐานของเพื่อนคนนี้ ดังนั้น การที่คนกล่าวว่าการแปลภาษาเปรียบเสมือนการทำความรู้จักกับคนแปลกหน้าในอีกทางหนึ่งคือไม่ได้ไกลจากความหมายนี้สักเท่าไหร่เลย
ทำความรู้จักกับคนแปลกหน้า
คนส่วนใหญ่เรียนภาษาเพื่อใช้ในการสื่อสาร และแน่นอนว่าหนึ่งในกระบวนการก่อนที่จะสื่อสารได้คือการแปลงสารนั้นให้ตนเองรู้เรื่องก่อน เพื่อที่จะนำสารนั้นไปสื่อสารหรือมากกว่านั้นคือการแปลสารต่อให้คนอื่นรับรู้อีกที และที่กล่าวว่าการแปลภาษาเปรียบเสมือนการทำความรู้จักคนแปลกหน้าคนหนึ่งนั้นก็มีความใกล้เคียงกันอยู่มาก เริ่มต้นตั้งแต่การเริ่มทำความรู้จักกัน เช่น การเรียนรู้การทักทายของฝ่ายตรงข้าม ตั้งแต่การพูดสวัสดี ถามสารทุกข์สุขดิบด้วยการพูด Hello, how are you today? หรือประโยคเดียวกันในภาษาอื่นๆ เป็นต้น จากการทักทายง่ายๆนี่เองถือเป็นจุดที่เราเริ่มทำความรู้จักกับคนแปลกหน้าคนนี้ และแน่นอนว่ายิ่งเราเรียนรู้ภาษานั้นมากขึ้นเท่าไหร่ ก็เปรียบเสมือนเราค่อยๆเรียนรู้คนแปลกหน้าคนนี้มากขึ้นเท่านั้น
การแปลภาษานั้นผู้แปลจำเป็นต้องศึกษาเอกลักษณ์และวัฒนธรรมของภาษานั้นๆด้วย เพื่อที่การแปลจะได้ออกมาตอบโจทย์ผู้ใช้งานภาษานั้นมากที่สุด เพราะการแปลภาษาที่พึ่งแต่ความรู้ทางหลักภาษาอย่างเดียวนั้นอาจเป็นงานแปลที่ขาดเสน่ห์ ด้วยเนื้อความที่ตรงตัวและเรียบง่ายเกินไป แต่หากเราพยายามทำความรู้จักกับภาษานั้นและสร้างความคุ้นเคยกับสิ่งแวดล้อมของภาษานั้นจะช่วยให้เราแปลออกมาได้ลื่นไหลและมีเสน่ห์มากขึ้น เสมือนว่าพอเราทำความรู้จักกับคนแปลกหน้าคนนั้นจนสนิทสนมแล้ว เราสาสามารถเข้าใจความเป็นเขาและทำให้การสื่อสารนั้นมีความสนุก เข้าใจกันง่ายขึ้น รวมทั้งบทสนทนายังมีความเป็นธรรมชาติมากขึ้นอีกด้วย
ผู้เขียน
พรชนก วัฒนาณุฐการ (ปู)
ผู้ช่วยฝ่ายการตลาด