เหตุผลที่ต้องเรียนรู้ศัพท์แสลงในการเรียนภาษา
โดยส่วนใหญ่แล้วศัพท์แสลงหรือสำนวนแสลงต่างๆจะถูกมองว่าเป็นสิ่งที่ไม่ควรใช้ หรือมองว่าคำเหล่านั้นเป็นการลดคุณค่าของภาษา ซึ่งกลุ่มวัยรุ่นมักถูกมองว่าเป็นกลุ่มที่ริเริ่มใช้คำศัพท์ที่ไม่เหมาะสมเหล่านี้ ซ้ำร้ายยังโดนตีค่าว่าเป็นคนไร้การศึกษา หรือไม่รู้จักรักษาวัฒนธรรมอันดีงามที่สืบทอดกันมา แต่จริงๆแล้วการใช้ศัพท์แสลงนั้นมีประโยชน์ในตัวของมันเอง เพราะศัพท์แสลงในแต่ละยุคสมัยเป็นสิ่งที่บ่งบอกเอกลักษณ์สำคัญในช่วงเวลานั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นสำนวนที่ถูกคิดขึ้นมาใหม่ให้ทันกระแส หรือภาษาพูดที่ทำให้เข้าใจได้ง่ายในช่วงเวลานั้น การปฏิเสธที่จะไม่เรียนรู้ศัพท์แสลงอาจเป็นสิ่งที่ทำให้การเรียนภาษาของคุณไม่ถูกพัฒนาในแง่ของการใช้ภาษาได้ทันยุคสมัย อย่างที่คนกล่าวว่าภาษาคือการเรียนรู้ที่ไม่สิ้นสุดเพราะภาษาเองก็มีการถูกใช้และพัฒนาอยู่ตลอด ดังนั้นเราควรรับการเปลี่ยนแปลงนั้นไว้เพื่อพัฒนาความรู้ความสามารถของตนเองด้วย
การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพคือการสื่อสารที่สามารถพูดให้ทุกคนเข้าใจได้
คุณคงไม่สามารถพูดได้ว่าคุณเป็นคนที่เก่งภาษานั้นอย่างแท้จริงหากคุณสามารถสื่อสารได้แค่ในกลุ่มคนบางกลุ่ม ด้วยยุคนี้ศัพท์แสลงต่างแทรกตัวอยู่ในหลายบริบทของภาษา โดยลองจิตนาการว่าถ้าคุณเรียนภาษาแต่ผลสุดท้ายคุณสามารถสื่อสารได้อย่างเข้าใจจริงกับคนแค่สิบคนจากหนึ่งร้อยคน นั่นอาจทำให้คุณต้องกลับมาคิดว่า คุณเรียนภาษาได้อย่างถูกต้องและครบถ้วนจริงหรือไม่ เหตุนี้เองทำให้คุณต้องยอมรับในการเรียนรู้ศัพท์แสลงไปในตัว
ศัพท์แสลงอาจกลายเป็นศัพท์สามัญที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในอนาคต
หากศัพท์ “ปราณีต” มีไว้ใช้ในการชื่นชมบางอย่าง คงเลี่ยงไม่ได้ว่ายุคนี้ศัพท์คำนี้ถูกใช้น้อยลงและคนกลับใช้ศัพท์แสลง “เจ๋ง” ในการสื่ออารมณ์แทน หรือคำว่า “ปัง” ที่ใช้กันอย่างติดปากในวงการบันเทิง ซึ่งหมายความว่า “ดีงาม” รวมไปถึงคำว่า “หัวร้อน” ที่แปลงมาจาก hothead ในภาษาอังกฤษแปลว่าอารมณ์ร้อน หงุดหงิดง่าย ซึ่งศัพท์แสลงเหล่านี้ไม่ได้ถูกใช้อย่างจำกัดเฉพาะกลุ่มวัยรุ่นเท่านั้นแต่ได้กระจายไปสู่เกือบทุกวัยและใช้อย่างแพร่หลายในวงสนทนาจนเป็นคำพูดติดปากไปแล้ว เหตุนี้เองเราสามารถเห็นได้ว่าศัพท์แสลงที่เคยโดนกล่าวว่าเป็นศัพท์ไม่เหมาะสม วันหนึ่งได้กลายมาเป็นศัพท์สามัญที่ใช้กันทั่วไปในที่สุด มากกว่านั้นพจนานุกรมยังได้มีการบรรจุศัพท์ใหม่ๆลงไปตลอด ซึ่งส่วนหนึ่งของศัพท์เหล่านั้นก็มาจากศัพท์แสลงนี่เอง
ศัพท์แสลงกับวัฒนธรรม
ในยุคนี้ศัพท์แสลงแทบจะแทรกอยู่ในทุกที่ไม่ว่าจะเป็นงานศิลปะ ดนตรี วรรณกรรม ภาพยนตร์ สื่อโทรทัศน์และโฆษณาต่างๆ ถ้าคุณไม่เปิดใจให้กับศัพท์แสลงคุณอาจจะพลาดอรรถรสและความหมายของสารที่สื่อเหล่านี้พยายามสื่อก็เป็นได้ โดยยิ่งสื่อมักแฝงความหมายของวัฒนธรรมท้องถิ่นและเรื่องราวความเป็นไปของสังคมอยู่ภายใน ศัพท์แสลงไม่เพียงแต่เป็นคำศัพท์หรือสำนวนที่คิดขึ้นมาอย่างไม่มีมูลเหตุ ศัพท์แสลงส่วนมากพัฒนามาจากประสบการณ์ทางด้านวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของผู้คิดค้นในยุคนั้นๆ อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่าศัพท์แสลงอาจจะมาจากนักประพันธ์เพลง นักเขียน คนคิดคำโฆษณาหรือบทภาพยนตร์ต่างๆ ซึ่งคำเหล่านี้เองจะค่อยๆซึมซับไปยังผู้ชม ผู้ฟัง และส่งต่อการใช้งานไปเรื่อยๆจนสุดท้ายคำศัพท์นั้นกลายเป็นคำติดปากที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในสังคม มากกว่านั้นศัพท์แสลงเองก็เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้งานในวงการเหล่านั้นมีสีสัน ดึงดูดความสนใจ และมีเอกลักษณ์ในตัวงานมากขึ้น
การที่คุณจะเข้าใจภาษาได้อย่างแท้จริงนั้น คุณต้องเปิดใจรับมุมมองอื่นที่นอกเหนือจากตำราสอนภาษา รวมไปถึงศัพท์แสลงและสำนวนต่างๆด้วย วงการการแปลภาษาก็เช่นเดียวกัน นักแปลที่ดีควรศึกษาคำศัพท์ใหม่ๆเหล่านี้ไว้เพราะจะทำให้งานแปลของคุณดูเข้ากับยุคสมัยและงานจะสะท้อนตัวตนของนักแปลได้ว่าเป็นบุคคลที่ไม่หยุดพัฒนาความรู้ความสามารถโดยมีการเปิดใจรับสิ่งใหม่ๆอยู่ตลอดเวลา ทั้งนี้ทั้งนั้นไม่ได้หมายความว่านักแปลต้องใช้ศัพท์แสลงในทุกงาน แต่นักแปลควรเข้าใจได้ว่าในแต่ละบริบทควรเลือกใช้ภาษาแบบไหนเพื่อที่จะตอบโจทย์งานมากที่สุด
ผู้เขียน
พรชนก วัฒนาณุฐการ (ปู)
ผู้ช่วยฝ่ายการตลาด