สิ่งที่สร้างวัฒนธรรมไทยจากอดีตสู่ปัจจุุบัน
วัฒนธรรมถือว่าเป็นสิ่งที่อยู่คู่ทุกชนชาติมาโดยตลอด มีหนึ่งชาติย่อมเกิดหนึ่งวัฒนธรรม เพราะวัฒนธรรม หมายถึง รูปแบบของกิจกรรมและโครงสร้างเชิงสัญลักษณ์ที่ทำให้กิจกรรมนั้นเด่นชัดและมีความสำคัญต่อวิถีการดำเนินชีวิต ซึ่งเป็นพฤติกรรมและสิ่งที่กลุ่มสังคมสร้างขึ้นมาด้วยการเรียนรู้จากกันและกัน และร่วมใช้อยู่ในกลุ่มพวกของตน โดยวัฒนธรรมสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามยุคสมัยและความเหมาะสม
วัฒนธรรมส่วนหนึ่งสามารถแสดงออกผ่าน ดนตรี วรรณกรรม และศิลปะแขนงต่างๆ แม้บางครั้งอาจมีผู้กล่าวว่า วัฒนธรรมคือเรื่องที่ว่าด้วยการบริโภคและสินค้าบริโภค เช่น วัฒนธรรมระดับสูง วัฒนธรรมระดับต่ำ วัฒนธรรมพื้นบ้าน หรือวัฒนธรรมนิยม แต่นักมานุษยวิทยาโดยทั่วไปมักกล่าวว่า วัฒนธรรมไม่ได้เป็นเพียงสินค้าบริโภค แต่รวมถึงการให้ความหมายแก่สินค้านั้นๆด้วย โดยยังรวมไปถึงความสัมพันธ์ทางสังคม แนวการปฏิบัติที่ทำให้ผู้คนและวัตถุอยู่ร่วมกันได้ ฉะนั้นในสายตาของนักมานุษยวิทยา ความเป็นวัฒนธรรมจึงรวมไปถึงเทคโนโลยี ศิลปะ วิทยาศาสตร์รวมทั้งระบบศีลธรรม คำถามต่อมาคือ แล้ววัฒนธรรมไทยคืออะไร รูปร่างเป็นอย่างไร และวัฒนธรรมไทยดั้งเดิมกับวัฒนธรรมไทยที่เป็นอยู่ในสังคมปัจจุบันยังเหมือนกันอยู่หรือไม่ โดยฉันหวังว่าบทความต่อไปนี้จะช่วยให้ผู้อ่านพอเห็นภาพรวมของการเปลี่ยนแปลงของวัฒนธรรมไทยได้มากขึ้น
วัฒนธรรมไทยคืออะไร
วัฒนธรรมไทย หมายถึง วิถีชีวิตของคนไทยในสังคมไทยที่เป็นแบบแผนของการประพฤติปฏิบัติที่ดีงามและการแสดงออกถึงความรู้สึกนึกคิดในสถานการณ์ต่างๆ ที่สมาชิกในสังคมไทยสามารถรับรู้ เข้าใจ ยอมรับ และใช้ปฏิบัติร่วมกัน ซึ่งสิ่งที่รวมกันถือเป็นวัฒนธรรมไทย คือ ภาษาไทยที่ใช้ในการสื่อสารไม่ว่าจะเป็นการพูดและเขียน, อาหารการกิน, มารยาท ซึ่งหมายถึงการประพฤติตัวระหว่างบุคคลต่อบุคคลที่สังคมยอมรับ ไม่ว่าจะเป็นทางกายก็ดี หรือวาจาก็ดี, การแต่งกายโดยชุดประจำชาติที่แสดงเอกลักษณ์ของความเป็นไทย, ประเพณีและพิธีกรรมทางศาสนาที่ปฏิบัติกันในวาระสำคัญต่างๆ, ศิลปกรรม อันประกอบด้วย งานศิลปหัตถกรรม จิตรกรรม สถาปัตยกรรม และประติมากรรม สุดท้ายคือ การแสดงการละเล่น ศิลปะการแสดงแบบไทย ประกอบกับดนตรีไทย
วัฒนธรรมไทยเปลี่ยนไปบ้างไหม
สังคมและวัฒนธรรมย่อมมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เพราะความต้องการของมนุษย์ไม่มีที่สิ้นสุด แต่การเปลี่ยนแปลงจะเร็วหรือช้านั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยที่มาเกี่ยวข้อง เช่น ระดับการศึกษาของคนในสังคม การสื่อสาร ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ที่สามารถนำมาเปลี่ยนแปลงให้ดีกว่าเดิมได้ เพราะวัฒนธรรมกับสังคมเป็นของคู่กัน ถ้าสังคมเปลี่ยนวัฒนธรรมก็เปลี่ยน มีผลเกี่ยวเนื่องกันอยู่เสมอ ซึ่งสังคมไทยเองก็เป็นเช่นนั้น ทุกสังคมย่อมมีการเติบโตและพัฒนา โดยการเปลี่ยนแปลงทางสังคมไทยนี่เอง ทำให้วัฒนธรรมไทยได้รับผลกระทบทำให้รูปแบบการดำเนินชีวิตของมนุษย์เปลี่ยนไปทั้งที่เป็นวัตถุและไม่ใช่วัตถุก็ดี
การเปลี่ยนแปลงทางสังคมส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากการตอบสนองความต้องการของมนุษย์เพื่อให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น วัฒนธรรมไทยเองก็เปลี่ยนไปในรูปแบบนั้น โดยตั้งอยู่บนความต้องการปรับปรุงวัฒนธรรมของตนให้เจริญขึ้น มีการคิดค้นและดัดแปลงให้เหมาะสมกับสังคมปัจจุบันมากขึ้น ที่เห็นได้ชัดที่สุดคงเป็นเรื่องการแต่งกาย หากเทียบกับยุคแรกเริ่มของการก่อตั้งประเทศไทย ความเปลี่ยนแปลงทางด้านการแต่งกายนั้นมีมาทุกยุคสมัยจนมาถึงปัจจุบัน สิ่งนี้ก็ยังคงเปลี่ยนอยู่เรื่อยๆและยังไม่มีแนวโน้มว่าจะหยุด
การเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมทางสังคมก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่กระทบต่อวัฒนธรรมไทย เช่น ประชากรมีจำนวนมากขึ้น ทำให้มีการแข่งขันกันสูง เกิดความขัดแย้งระหว่างชนชั้นสังคม (Class Conflict) เพิ่มมากขึ้น อันเป็นปัญหาที่มนุษย์ต้องหาวิธีการสร้างระเบียบเพื่อแก้ไขความยุ่งยากดังกล่าว เหตุนั้นเองวัฒนธรรมของมนุษย์ย่อมเปลี่ยนไปด้วย ถ้าหากเกิดความวุ่นวายก็ต้องออกกฎหมายเพื่อควบคุมให้เกิดความสงบ โดยสังคมในอดีตมักใช้สันติวิธี การประนีประนอมยอมความโดยตกลงกันเอง ซึ่งอาจแตกต่างจากสังคมปัจจุบันอยู่หน่อยตรงที่แนวคิดด้านสิทธิของบุคคลและสังคมมีความเข้มข้นมากขึ้น แนวคิดที่จะปกป้องสิทธิในกลุ่มคนมีมากขึ้น ทำให้ขั้นตอนการประนีประนอมยอมความเพียงวาจามีความเบาบางลง แต่มาพึ่งสิทธิและหลักเกณฑ์ความยุติธรรมทางกฎหมายมากขึ้น
อิทธิพลจากต่างชาติและการพัฒนาที่นำพามาซึ่งการปรับตัว
จากข้างต้นจะเห็นว่าวัฒนธรรมมีการเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาสถาพสังคม เศรษฐกิจ
การเมือง การศึกษา เทคโนโลยี การเพิ่มของประชากรและอื่นๆอีกมากมายที่มีส่วนทำให้สภาพแวดล้อม สภาพจิตใจ ความเชื่อและทัศนคติเปลี่ยนแปลงไป วัฒนธรรมจึงต้องเปลี่ยนแปลงปรับปรุงเพื่อให้สอดคล้องตามไปด้วย หากกล่าวให้เห็นภาพอย่างง่าย ปัจจัยที่ทำให้วัฒนธรรมเปลี่ยนแปลงนั้นมีอยู่สองแบบ คือปัจจัยภายนอก ซึ่งมาจากการหลั่งไหลเข้ามาของวัฒนธรรมชาติอื่น หรือวัฒนธรรมสมัยใหม่ ซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่เรียบง่าย
กว่า ไม่สลับซับซ้อนเหมือนของไทย ส่งผลให้เกิดการเรียนรู้และรับสิ่งเหล่านั้นเข้ามาประยุกต์ใช้ เช่น การแต่งกาย อาหารการกิน ประเพณีและพิธีกรรมต่างๆ รวมไปถึงบริบทของการสนทนา เป็นต้น ส่วนอีกปัจจัยหนึ่งคือ ปัจจัยภายใน ความเจริญทางด้านสังคมและชุมชน เมื่อสังคมและชุมชนมีการขยายตัวอย่างกว้างขวาง ผู้คนหันไปสนใจเศรษฐกิจมากขึ้น ทำให้เกิดการแข่งขัน
จนส่งผลต่อกิจกรรมด้านวัฒนธรรมท้องถิ่น ทำให้กิจกรรมวัฒนธรรมบางอย่างที่เคยมีมานานนั้นเลือนหายไป
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ทุกการเปลี่ยนแปลงย่อมมีทั้งผลดีและผลเสีย วัฒนธรรมไทยเองก็เป็นเช่นนั้น ด้านผลดี คือทำให้เกิดการคิดค้นสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ มีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาประเทศไปในทางที่ดีขึ้น อำนวยความสะดวกให้ประชากรได้มากขึ้น ด้านผลเสีย ด้วยอัตราความเร็วของการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมไม่เท่ากัน เมื่อวัฒนธรรมทางวัตถุที่เจริญก้าวหน้า แต่วัฒนธรรมที่ไม่ใช่วัตถุ เช่น ความคิด ความเชื่อ วิถีการปฏิบัติของคนบางส่วนยังคงเป็นแบบเดิมๆ ทำให้เกิดปัญหาเรื่องการปรับตัว ซึ่งถ้าส่วนใดส่วนหนึ่งไม่สามารถตามทันหรือปรับตัวเข้ากันไม่ได้ ก็จะเกิดปัญหาตามมา ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมจึงควรเป็นไปอย่างสมดุลและสัมพันธ์กัน โดยเราเองก็ต้องยอมรับความจริงที่ว่าเราไม่สามารถรักษาสิ่งหนึ่งสิ่งใดให้คงอยู่ได้ตลอดไปโดยปราศจากความเปลี่ยนแปลง เช่นนั้นเอง การมองเห็นทั้งข้อดีและข้อเสียของวัฒนธรรมไทยที่กำลังเปลี่ยน จะทำให้เรามองเห็นหนทางที่จะเข้าใจผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงนั้นได้อย่างเป็นกลาง ซึ่งจะนำไปสู่การอนุรักษ์วัฒนธรรมดั้งเดิมไว้ได้อย่างถูกต้อง และเปลี่ยนแปลงบางวัฒนธรรมได้อย่างถูกต้องเช่นกัน
ผู้เขียน
พรชนก วัฒนาณุฐการ (ปู)
ผู้ช่วยฝ่ายการตลาด