วิวัฒนาการของภาษาไทยในยุคสมัยที่เปลี่ยนไป
ภาษาคือเครื่องมือที่ทุกคนในโลกใช้สื่อสารกันทุกวัน ภาษาที่มีคนใช้อยู่เป็นประจำย่อมมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา แต่การเปลี่ยนแปลงนี้จะเป็นไปอย่างช้าๆ และค่อยกลายไปทีละน้อย พวกเราจึงไม่รู้สึกถึงการเปลี่ยนแปลงมากนัก แต่หากลองเปรียบเทียบระหว่างภาษาที่ใช้อยู่ในปัจจุบันกับภาษาในอดีต เราจะเห็นได้ถึงความเปลี่ยนแปลงแน่นอน ภาษาไทยก็เช่นกัน
วิวัฒนาการของภาษาไทยมีการเปลี่ยนแปลงมาตั้งแต่สมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงประดิษฐ์อักษรไทยขึ้นใช้ในสมัยสุโขทัย เปลี่ยนมาสู่สมัยอยุธยาและสมัยรัตนโกสินทร์ตามลำดับ เมื่อเปรียบเทียบอย่างนี้จะเห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนและจะเห็นวิวัฒนาการของภาษาจากจุดหนึ่งมายังอีกจุดหนึ่ง จนกระทั่งทุกวันนี้ภาษาไทยก็ยังมีวิวัฒนาการอยู่ไม่หยุด อาจไม่ได้เป็นการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างภาษาที่ยิ่งใหญ่ แต่เกิดขึ้นกับภาษาพูดและคำศัพท์ ทั้งจากอิทธิพลของภาษาต่างชาติก็ดี หรือการนำศัพท์เก่าๆกลับมาประยุกต์ใช้เองก็ดี
สถาวะสังคมที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและวิวัฒนาการของภาษา
วิลเลี่ยม ลาบอฟ นักภาษาศาสตร์ชาวอเมริกัน ผู้ศึกษาการแปรและการเปลี่ยนแปลงของภาษา ได้กล่าวไว้ว่า ภาษาเดียวกันที่ใช้อยู่ในสังคมเดียวกันจะไม่เหมือนกันไปทั้งหมด แต่จะแตกต่างกันตามสภาพของสังคมและบุคคล การเปลี่ยนแปลงชนิดนี้จะเกิดขึ้นเมื่อรูปใดรูปหนึ่งของหน่วยเดียวกัน กลายเป็นที่นิยมของผู้ใช้ภาษา ทำให้มีการเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม ทำให้สิ่งที่เคยนิยมใช้มาก่อนมีผู้ใช้น้อยลงไป ตัวอย่างที่เห็นชัดคือ การใช้ภาษาในวงการสื่อสารมวลชนปัจจุบัน ที่นิยมใช้คำหรือประโยคบกพร่องในภาษาไทย โดยย่อรูปประโยคให้อ่านแล้วกระชับ การย่อศัพท์หรือตัดศัพท์ที่สามารถอ่านแล้วเข้าใจได้ภายในระยะเวลาอันสั้น เช่น “ชาวเน็ตแหก พ่อค้าโก่งราคาแมกส์โหนกระแส” ซึ่งความหมายเต็มๆที่ต้องการจะสื่อของประโยคนี้คือ ผู้ใช้อินเตอร์เน็ตร่วมกันแสดงความเห็นเพื่อชี้ข้อเท็จจริงถึงการที่พ่อค้าท่านหนึ่งโก่งราคาขายหน้ากากอนามัยที่กำลังเป็นกระแสความต้องการ เป็นต้น
กล่าวถึงภาษาไทยที่ถูกใช้ในสื่อโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ รวมไปถึงสื่อออนไลน์บนอินเตอร์เน็ตอาจนับได้ว่าเป็นแหล่งเผยแพร่ข้อมูลลำดับต้นๆที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจนสามารถนำไปสู่การวิวัฒนาการของภาษาได้เลยทีเดียว เพราะสังคมปัจจุบันต่างหันมาเสพสื่อทุกชนิดเยอะขึ้น ซึมซับสารต่างๆจากแหล่งข่าวได้ง่ายขึ้น และนำไปสู่การกระจายข่าวต่อๆกันไประหว่างบุคคลมากขึ้น เหตุนี้เองจึงไม่แปลกใจเลยว่าทำไมภาษาไทยในทุกวันนี้เปลี่ยนไปเป็นภาษาพูด ภาษาจากสื่อ จนการใช้คำมีความกระชับ พูดหนึ่งคำแต่สามารถเข้าใจแทนหนึ่งประโยคได้ ตัวอย่างเช่น การใช้คำว่า “แล้ว” ในปัจจุบันนี้ความหมายของคำว่า “แล้ว” สามารถตีค่าเป็นหนึ่งประโยคได้ โดยในบริบทของการสนทนายุคก่อน การเจรจาถามตอบจะพูดว่า “แล้วอย่างไรต่อ” แต่ปัจจุบันมันถูกย่อให้เหลือแค่คำว่า “แล้ว” ซึ่งผู้สนทนาทั้งสองฝ่ายต่างเข้าใจในความหมายของคำๆนี้อย่างตรงกัน
ทำความเข้าใจและยอมรับส่วนที่เปลี่ยน
หากมองกลับกันในแง่ของผู้อนุรักษ์ภาษาไทย ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้ได้สร้างความวิตกอยู่ไม่น้อย ปัญหาการใช้ภาษาไทยที่เกิดจากสื่อและอินเตอร์เน็ตนั้นเริ่มลุกลาม ความอิสระอันไม่มีขีดจำกัดของภาษาทำให้เกิดปัญหาตามมาซึ่งกระทบสำนวนภาษาที่ถือว่าเป็นวัฒนธรรมและมรดกเก่าแก่ของชาติ จนกลุ่มคนที่ต้องการอนุรักษ์ความเป็นต้นฉบับของภาษาไทยนั้นหวั่นเกรงว่าภาษาไทยแท้แต่โบราณ และความสวยงามอันเป็นเอกลักษณ์จะเลือนหายไปในที่สุด
แต่หากมองในแง่โดยรวมแล้วการวิวัฒนาการของภาษาไม่ใช่เรื่องที่ส่งผลเสียมากนักเพราะทุกวันนี้ภาษาที่เราใช้ต่างก็วิวัฒนาการจากในอดีตทั้งสิ้น เพื่อที่จะทำให้เข้าใจง่ายขึ้นและสะดวกรวดเร็วในการใช้งานและมันเป็นเรื่องดีที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด และไม่ใช่แค่ภาษาไทยเท่านั้นอาจรวมถึงภาษาอื่นๆบนโลกด้วยที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาจากในอดีตจนถึงปัจจุบัน จึงคาดว่าในอีกหลายปีข้างหน้าภาษาที่เราใช้อยู่อาจจะเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆเพื่อให้ใช้งานได้ง่ายและสวยงามกว่าที่เป็นอยู่ เพราะทุกวันนี้ประชากรในโลกต่างเพิ่มขึ้นไม่หยุดจึงทำให้มีผู้คนมากมายต่างภาษา ต่างถิ่นอาศัย ทำให้เกิดการกระจายตัวกันมากยิ่งขึ้นอันเป็นเหตุที่ก่อให้เกิดการวิวัฒนาการของภาษานั่นเอง
ผู้เขียน
พรชนก วัฒนาณุฐการ (ปู)
ผู้ช่วยฝ่ายการตลาด