ทำไม Google Translate ถึงไม่ค่อยได้ผลกับการแปลภาษาไทย
การแปลในสมัยนี้ สามารถทำได้อย่างรวดเร็วและง่ายดาย คุณไม่จำเป็นต้องพกพจนานุกรมเล่มหนาๆตลอดเวลา เพียงแค่มีโทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟนสักเครื่อง คุณก็สามารถเข้าถึงคำศัพท์ในภาษาต่างๆได้มากกว่า 40 ภาษาในเวลาไม่กี่นาที แอปพลิเคชันหรือเครื่องมือช่วยในการแปลภาษาที่ทุกคนต่างนึกถึงเป็นอันดับแรกคงจะเป็นสิ่งใดไปไม่ได้นอกจาก Google Translate
ในยุคที่ Google เป็นแทบทุกอย่างให้กับพวกเรา การใช้ชีวิตก็ดูจะสะดวกขึ้นมาก เสมือนว่า Google เป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลการค้นหาชั้นนำ ที่ไม่ว่าคุณต้องการอะไรคุณก็จะได้คำตอบจากมันเสมอ ไม่ว่าจะเป็นเกี่ยวกับการศึกษา และการแปลภาษาก็เช่นกัน แรกเริ่มเดิมทีเมื่อ Google Translate เปิดตัวขึ้น การแปลภาษาไทยยังไม่ถูกบรรจุอยู่ในระบบการแปล และพึ่งถูกบรรจุลงไปเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมานี้เอง นับได้ว่าหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมานี้ เป็นทศวรรษที่ทำให้คนไทยกล้าใช้ภาษาต่างประเทศมากขึ้น และก่อให้เกิดการเรียนรู้ด้วยตนเองมากขึ้นเช่นกัน
เมื่อสิ่งที่หลายคนไว้ใจ อาจไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องทั้งหมด
หากคุณได้ลองใช้การแปลภาษาจาก Google Translate มาแล้วบ้าง คุณคงพอทราบดีเกี่ยวกับจุดบกพร่องที่เกิดขึ้นของระบบการแปลนี้ โดยเราจะมาทำความเข้าใจในเบื้องต้นกันก่อนว่าการแปลจากเครื่องมือตัวช่วยนี้ ยังไม่สามารถแปลสิ่งที่ถูกต้องตามหลักภาษาได้อย่างสมบูรณ์แบบร้อยเปอร์เซ็น เพราะการแปลภาษาของ Google Translate จะมาจากการประมวลผลของคอมพิวเตอร์หลายเครื่องด้วยกัน โดยคอมพิวเตอร์เหล่านี้จะใช้กระบวนการแปลที่เรียกว่า “statistical machine translation” หรือ “ระบบการแปลภาษาเชิงสถิติ” ซึ่งเป็นวิธีที่คอมพิวเตอร์ใช้แปลความหมายของประโยค โดยอ้างอิงจากรูปแบบของข้อความจำนวนมาก เพื่อให้ข้อความที่แปลมีความใกล้เคียงกับภาษามนุษย์ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น การแปลของ Google translate ยังเป็นในรูปแบบของการจับคำศัพท์ต่อคำศัพท์มากกว่าการแปลภาพรวมทั้งประโยค เหตุนี้เองทำให้การแปลที่ได้มา ออกจะผิดเพี้ยนหรือมีการเรียงลำดับของคำที่ก่อให้เกิดความสับสนอยู่บ้าง เพราะโดยธรรมชาติของภาษาเอง การก่อรูปประโยคมิได้เกิดขึ้นเพียงแค่การนำคำศัพท์มาเรียงต่อกันอย่างเดียว แต่ยังมีการสลับตำแหน่งคำศัพท์ตามหลักไวยากรณ์ของภาษานั้นๆ รวมถึงการที่มีวลีเปรียบเปรย การอุปมาอุปไมยที่คำศัพท์ออกจะลึกซึ้งกว่าการสร้างรูปประโยคแบบพื้นฐานอยู่มาก สิ่งเหล่านี้เองที่ยังเป็นจุดบกพร่องของตัวโปรแกรมที่ยังไม่สามารถแปลออกมาได้ถูกต้องตามแบบฉบับที่เจ้าของภาษาใช้กัน
หากให้ยกตัวอย่างง่ายๆที่สามารถเห็นภาพได้ชัดเจนเกี่ยวกับการแปลวลีหรือสำนวนในรูปแบบการแปลคำศัพท์ตรงตัว ซึ่งคำแปลทีได้ออกมานั้นเห็นจะทื่อตรงเกินไปจนอดขำเสียไม่ได้ เช่นวลี “You are pulling my leg” ซึ่งวลี pulling someone leg แปลว่า การหยอกล้อ หรือแหย่เล่น เหตุนี้เองประโยคที่พูดว่า You are pulling my leg จะแปลได้ว่า คุณกำลังแกล้งฉันอยู่แน่ๆ แต่ถ้าหากคุณคัดลอกประโยคนี้ไปแปลในระบบ Google translate จะแปลออกมาได้ว่า คุณกำลังดึงขาของฉัน ซึ่งทำให้เห็นจุดบกพร่องได้ชัดเจนว่าการแปลแบบจับคำศัพท์ต่อคำศัพท์ ทำให้ได้ผลลัพธ์ที่ผิดเพี้ยน กลับกันหากเราอยากแปลสำนวนของภาษาไทยไปเป็นภาษาอังกฤษก็จะเห็นจุดที่พิดพลาดได้อยู่เช่นเดียวกัน เช่นสำนวน “หนีเสือปะจระเข้” ที่หมายความว่า การหนีจากปัญหาหนึ่งแต่ก็ดันไปเจอปัญหาอีกอย่างหนึ่งแทน ซึ่งหากเรานำสำนวนนี้ไปแปลในระแบบ มันจะแสดงผลว่า “Crocodie Patch” แปลเป็นไทยได้ว่าการพบปะจระเข้ คุณจะเห็นได้ว่าความหมายไม่ได้ใกล้เคียงกับความหมายจริงของสำนวนเอาเสียเลย
ให้เครื่องมือเป็นตัวช่วย ไม่ใช่ให้เป็นทั้งหมด
จากทั้งหมดข้างต้นที่กล่าวมาคงทำให้คุณเห็นภาพได้ไม่มากก็น้อย และได้รู้ถึงความผิดพลาดที่ระบบมี ดังนั้นการแปลที่ดีไม่ได้หมายถึงการแปลจากระบบที่สมบูรณ์แบบและเป็นที่นิยมเท่านั้น แต่หากเป็นการผสมผสานระหว่างความรู้ของตัวบุคคลและความรู้ของระบบเทคโนโลยีเข้าด้วยกัน เช่นนั้นเองการแปลที่สมบูรณ์แบบและสวยงามจะเกิดขึ้นได้
ทุกวันนี้ระบบและเครื่องมือการแปลได้เข้ามาช่วยย่นระยะเวลาและอำนวยความสะดวกสบายต่อผู้ใช้งานอย่างมาก การที่เราเลือกรับสิ่งที่ดีและถูกต้องจากระบบมาประยุกต์กับการใช้งานจะก่อให้เกิดการพัฒนาทั้งทางด้านความสามารถของตัวบุคคลรวมถึงประสิทธิภาพของเนื้องาน
ผู้เขียน
พรชนก วัฒนาณุฐการ (ปู)
ผู้ช่วยฝ่ายการตลาด