ความเชื่อมโยงของภาษากับความจำของมนุษย์
เคยสงสัยกันไหมว่าภาษากับหน่วยความจำของมนุษย์นั้นมีความเชื่อมโยงกันจริงหรือไม่ บางคนอาจเคยได้ยินหรือประสบมากับตัวเกี่ยวกับปัญหาเรื่องความจำเวลาที่ต้องจำคำศัพท์ใหม่ๆของภาษาอื่นจนต้องพูดกับตัวเองว่า “ฉันแก่เกินไปที่จะเรียนภาษาแล้ว” บ้าง หรือ “ให้เรียนภาษาตั้งแต่เด็กๆดีกว่าจะได้จำได้เยอะๆ มาเรียนตอนอายุมากแล้วความจำไม่ค่อยดีหรอก” บ้าง ถ้าหากเป็นเช่นนั้นจริงเราคงต่างสงสัยว่าควรทำอย่างไร ในขณะที่อายุนั้นเพิ่มพูนไปเรื่อยๆแต่ประสิทธิภาพในการจดจำดันลดน้อยลง และแท้จริงแล้วการเรียนภาษานั้นมีส่วนช่วยพัฒนาสมองและหน่วยความจำเราได้จริงๆอย่างที่ใครหลายคนกล่าวไว้จริงหรือ ผลพลอยได้ของการเรียนภาษาที่มากกว่าการได้รู้ภาษาคืออะไร บทความนี้จะนำเสนอมุมมองอันเป็นสิ่งที่น่าจะตอบข้อสงสัยเหล่านั้นได้อยู่พอสมควร
ความเชื่อมโยงของการเรียนภาษาและหน่วยความจำ
หากให้กล่าวอย่างง่ายและเห็นภาพชัดที่สุด “ภาษาคือหน่วยความจำ” ไม่ว่าเมื่อไหร่ก็ตามที่คุณเริ่มพูดสิ่งหนึ่งออกมา การทำงานของระบบสมองจะเริ่มต้นด้วยการดึงชิ้นส่วนต่างๆของคำและกฏข้อบังคับต่างๆของภาษาที่กระจายตัวกันอยู่ในสมองมารวมกันแล้วประมวลผลออกมาเป็นประโยคคำพูด
นักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Berkley ได้พิสูจน์แล้วว่าภาษาและหน่วยความจำนั้นมีความเกี่ยวโยงกันจริง โดยส่วนของสมองอันเป็นตัวประมวลผลและสร้างหน่วยความจำนั้นเรียกว่า ฮิปโปแคมบัส (Hippocampus) ซึ่งพื้นที่สมองส่วนนี้จะทำหน้าที่เชื่อมโยงคำ ความหมาย และองค์ความรู้ต่างๆที่กระจัดกระจายอยู่ในสมองเราให้มารวมตัวกันเพื่อสื่อสาร โดยไม่ว่าเมื่อไหร่ก็ตามที่เราเรียนภาษาใหม่ๆ เราจะใช้สมองส่วนนี้ในการจดจำคำพูด สำเนียง รวมถึงวิธีการเขียนเพื่อสื่อสาร อาจกล่าวได้ว่าทุกๆกระบวนความคิดก่อนจะประมวลผลออกมาเป็นรูปประโยคต่างถูกผลิตและผ่านกรรมวิธีของสมองส่วนนี้ทั้งสิ้น
การเรียนภาษากับการพัฒนามุมมองความคิด
จริงๆแล้วการเรียนภาษาไม่ได้เป็นสิ่งที่จะทำให้คุณสามารถเอาไปพูดได้ว่าคุณฉลาดกว่าใคร แต่มันหมายถึงการทำให้คุณเป็นคนที่มีความรู้ความสามารถเพิ่มมากขึ้นจากเดิม นอกเหนือจากการบริหารสมองเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจดจำแล้ว มันยังทำให้คุณเป็นคนที่มีไหวพริบในการตัดสินใจมากขึ้นอีกด้วย เพราะการพูดได้หลายภาษาเกี่ยวโยงกับวิธีความคิดที่ต้องเลือกสิ่งที่อยู่ในสมองออกมาใช้ในการสื่อสาร คุณจะระวังในการเลือกใช้คำพูดมากขึ้น เพราะคุณจะคิดถึงประโยคที่ต้องการจะสื่อออกมานั่นเอง
อายุกับการเรียนภาษาเป็นอุปสรรคต่อกันจริงหรือ?
เราสามารถพูดได้ว่าการเรียนภาษาคือการบริหารสมองหรือเป็นการให้สมองได้ออกกำลังกายทางหนึ่ง ซึ่งส่งผลต่อศักยภาพในการจดจำ การเชื่อมโยงข้อมูล รวมไปถึงการประมวลผล โดยคนทั่วไปอาจมองว่าการเรียนภาษานั้นเป็นเรื่องยากสำหรับคนที่อายุมากแล้ว แต่จริงๆมันไม่ใช่สิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะแม้แต่ผู้เชี่ยวชาญเองยังแนะนำว่า คนที่อายุเริ่มสูงขึ้น สมองของเขายิ่งต้องการการฝึกฝน ต้องการการบริหารที่มากขึ้น และการเรียนภาษาถือเป็นวิธีหนึ่ง หากกล่าวในแง่ของกระบวนการและเวลาในการเรียนรู้ แน่นอนว่ามันอาจใช้เวลานานกว่าหากเทียบกับคนที่อายุน้อย แต่เขาการันตีได้ว่าผลลัพธ์ที่ได้หลังจากการเรียนรู้นั้นมันจะช่วยสมองของคุณได้มากเลยทีเดียว
ตัวช่วยที่จะทำให้คุณเรียนภาษาได้รวดเร็วขึ้น
ครูผู้สอนภาษาอังกฤษหลายคนเชื่อว่าวิธีที่จะทำให้คุ้นเคยกับภาษาอังกฤษได้ดีคือการพยายามแปลคำพูดจากภาษาแม่ อย่างไรก็ตามการพูดโดยยึดคำศัพท์หรือรูปประโยคจากการแปลจากภาษาแม่อาจทำให้เกิดความหมายและบริบทที่ผิดเพี้ยนในอีกภาษา ดังนั้นการสร้างความคุ้นเคยกับภาษาที่เรียนถือเป็นเรื่องจำเป็น ไม่ใช่คนที่แปลคำพูดจากภาษาแม่ได้จะถือว่าเป็นคนที่สื่อสารได้ คุณต้องศึกษาคำศัพท์ รูปประโยค รวมไปถึงสำนวณของภาษานั้นๆเพื่อที่จะทำให้คุณมีไหวพริบในการสื่อสารและทำให้สิ่งที่สื่อนั้นมีประสิทธิภาพ
การสร้างความคุ้นเคยสามารถเริ่มได้จากการเรียนรู้ศัพท์จากรูปประโยคง่ายๆแล้วค่อยเพิ่มพูนไปตามระดับที่คิดว่าสมองของตนรับไหว แนวคิดของการเรียนรู้และสร้างความคุ้นเคยจากคำศัพท์นี้ยังช่วยพัฒนาสมองในส่วนของการสร้างความจำของคุณให้ดีขึ้นอีกด้วย แต่อย่างไรก็ดี คุณไม่ควรจำเฉพาะคำศัพท์ในรูปของการเขียนเพียงอย่างเดียวเพราะมันเกี่ยวโยงกับการสร้างความจำในสมอง หากคุณจดจำสิ่งนั้นในรูปแบบเดียว การนำไปใช้ก็สามารถนำไปใช้ได้อยู่รูปแบบเดียว กล่าวคือ คุณอาจมีปัญหาในการสื่อสารหากการสื่อสารนั้นเป็นไปในสถานการณ์ที่ต้องอาศัยการพูดคุยเจรจา
อย่างไรก็ดี มีสิ่งหนึ่งที่เราจะได้เรียนรู้จากการเรียนภาษาแน่ๆ คือ การเรียนภาษาใหม่ๆไม่ใช่สิ่งที่น่ากลัวหรืออันตราย มันไม่ส่งผลที่เป็นลบต่อตัวผู้เรียนแน่นอน ประโยชน์ของการเรียนภาษานั้น นอกเหนือจากการที่ทำให้คุณเป็นผู้สื่อสารที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นในวงสนทนาแล้วมันยังทำให้คุณสามารถเข้าใจสถานการณ์รอบตัวได้ดีมากขึ้นอีกด้วย
ผู้เขียน
Nikol Haytova