กล้าที่จะก้าวข้ามความกลัวเพื่อพัฒนาทักษะในการเขียนภาษาอังกฤษ
การเขียนนับว่าเป็นสิ่งสำคัญอันดับต้นๆในกระบวนการถ่ายทอดความรู้และความคิด โดยการเขียนสามารถใช้เพื่อการสื่อสารได้หลายโอกาส เช่น การติดต่อสื่อสารทางสังคม การประกอบอาชีพ การศึกษา หรือแม้กระทั่งการใช้สื่อสารในสังคมออนไลน์ เพราะนอกจากการพูดสื่อสารในยุคปัจจุบันแล้ว เรายังมีการเขียนเพื่อการสื่อสารกันมากขึ้นในหลายๆโอกาส เพื่อวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกันออกไป เช่น การสื่อสารทางโซเชียลมีเดีย การส่งอีเมล์ เพื่อสื่อจุดประสงค์ให้ผู้อ่านเข้าใจตรงกันกับสิ่งที่ผู้เขียนต้องการจะสื่อ นอกจากนั้นประโยชน์อีกอย่างหนึ่งของการเขียน คือ การช่วยพูดเพื่อถ่ายทอดความรู้สึก ความคิดเห็น ปัญหาและความต้องการของมนุษย์ด้วยกัน
หากพูดถึงการเขียนในภาษาแม่ตัวเองคงนับว่าเป็นเรื่องง่ายและไม่เป็นอุปสรรคอันใดนักสำหรับผู้ที่ต้องการจะสื่อ แต่ถ้าการเขียนนั้นอยู่ในรูปแบบของการสื่อสารภาษาอื่นที่ต่างออกไป แน่นอนว่าผู้เขียนเองคงมีความกังวลอยู่ไม่น้อยในการสร้างบริบทของข้อความ เนื่องด้วยโครงสร้างทางภาษาที่ต่างออกไป รวมถึงคำศัพท์ที่ไม่คุ้นชิน เหตุนั้นเองการเขียนในภาษาต่างชาติอาจเกิดข้อผิดพลาดในการสื่อสารและรับสารได้ โดยเฉพาะกับคนไทยที่ต้องใช้ภาษาอังกฤษในการติดต่อสื่อสาร เหตุนี้เองทำให้คนไทยบางส่วนมีความกลัวที่จะเขียนและสื่อสารข้อความต่างๆออกมา เพราะกลัวว่าตนจะสื่อออกมาผิด แต่ด้วยความกลัวที่รั้งไว้นี่เองทำให้ผู้เขียนไม่สามารถพัฒนาทักษะในจุดนี้ได้ ดังนั้นบทความนี้จึงอยากเสนอวิธีเพื่อให้คนไทยสามารถก้าวข้ามความกลัวในการเขียนภาษาอังกฤษไปได้ เพื่อพัฒนาทักษะการเขียนให้เป็นประโยชน์ต่อตนเองต่อไป
ฝึกให้เป็นนิสัยและสร้างความเคยชิน
เราต่างรู้ดีว่าการทำอะไรซ้ำๆในทุกๆวัน จะเกิดเป็นความเคยชินและอาจกลายเป็นนิสัยที่ติดตัวเราไปได้ ดังนั้น การเขียนภาษาอังกฤษเองก็สามารถใช้วิธีนี้ได้เช่นกัน โดยเริ่มจากการฝึกจดบันทึกเป็นภาษาอังกฤษผ่านกิจวัตรประจำวันต่างๆ เช่น รายการสิ่งที่ต้องทำ รายการสิ่งของที่ต้องซื้อ เป็นต้น ซึ่งวิธีนี้นับเป็นการสอดแทรกการเรียนรู้และทักษะการเขียน รวมถึงเป็นการเพิ่มพูนคลังคำศัพท์ไปด้วยในตัว โดยสิ่งไหนที่เราเขียนทุกวัน ประโยคที่เราทำเป็นประจำ คำศัพท์ที่เราใช้บ่อยๆ มักจะสร้างความคุ้นชินจนเราสามารถจำได้เองโดยไม่ต้องฝืน
นอกเหนือจากการจดบันทึกรายวัน อีกหนึ่งกิจกรรมที่เราต่างทำบ่อยก็คือการเล่นอินเตอร์เน็ต ซึ่งรวมไปถึงการแสดงความคิดเห็นผ่านช่องทางในโซเชียลมีเดีย โดยสิ่งเหล่านี้เองเราสามารถประยุกต์ให้เป็นการเรียนภาษาอังกฤษได้ เช่น ลองแสดงความคิดเห็น หรือเขียนสิ่งต่างๆในโซเชียลมีเดียด้วยภาษาอังกฤษดู แน่นอนว่าในแต่ละวันเราใช้สิ่งเหล่านี้เยอะพอควรอยู่แล้ว ฉันมั่นใจว่าวิธีนี้จะเป็นวิธีการเรียนที่คุณไม่ต้องฝืนความรู้สึกตัวเองเลย และจะเป็นการฝึกทักษะการเขียนในรูปแบบการแสดงความคิดเห็นที่ตรงกับสิ่งที่คุณอยากจะสื่อมากที่สุดอีกทางหนึ่งด้วย
กล้าที่จะเรียนรู้ถูกผิด
ความกลัวการผิดพลาด เห็นจะเป็นอุปสรรคหนึ่งที่ขัดต่อการเรียนรู้ ซึ่งความกลัวนี้สามารถนำไปสู่การหยุดชะงักของการพัฒนา ฉันอยากย้ำเตือนเสมอว่า คนเราต้องเรียนรู้จากความผิดพลาด ทุกคนสามารถสร้างข้อผิดพลาดได้ โดยเฉพาะกับการเรียนสิ่งใหม่ๆที่เราต่างไม่คุ้นชิน แต่เมื่อเราผิดหนึ่งครั้ง เราควรนำข้อผิดพลาดนั้นมาเป็นบทเรียนและข้อเตือนใจให้กับตัวเองต่อไปในอนาคต โดยฉันมองว่าเมื่อเราผิดหนึ่งครั้งมันจะทำให้เราจดจำสิ่งนั้นได้ดีและเร็วกว่าเดิม ดังนั้น อย่ากลัวที่จะสร้างข้อผิดพลาดในการใช้ภาษาอังกฤษเลย เพราะเราต่างก็ไม่ใช่เจ้าของภาษา ทุกคนสามารถพลาดในความเป็นไปได้ที่เท่ากันและความชำนาญเองก็ล้วนเกิดจากการฝึกฝนทั้งสิ้น
ในสมัยนี้มีเทคโนโลยีมากมายที่ช่วยให้การเรียนภาษานั้นง่ายขึ้น และยังอำนวยความสะดวกให้เราตรวจสอบความถูกต้องในการใช้ภาษาอังกฤษได้ดีทีเดียว เบื้องต้นเราอาจเริ่มจากการเขียนโดยใช้เครื่องมือตัวช่วยเหล่านั้นก่อน เพื่อตรวจสอบส่วนที่ผิด ซึ่งจะทำให้ทราบว่าเราผิดตรงไหนบ้างเพื่อจะได้แก้ไขถูกจุด การเขียนโดยใช้ตัวช่วยเหล่านี้จะทำให้เราค่อยๆเรียนรู้วิธีการเขียนที่ถูกต้องไปทีละนิดจนเกิดเป็นการพัฒนาให้กับตัวเราเอง และจริงอยู่ที่เทคโนโลยีต่างๆนั้นสามารถทำผิดให้เป็นถูกได้อย่างง่ายดาย แต่ฉันก็ไม่อยากแนะนำให้ใช้มันตลอดจนเกิดเป็นนิสัยจนทำให้เราเขียนประโยคในแบบที่ถูกและควรด้วยตัวเองไม่ได้สักที
ในการเขียนภาษาอังกฤษ คนไทยชอบวิตกกังวลกับการเขียนผิดหลักไวยากรณ์จนไม่กล้าที่จะสื่อสาร ซึ่งความวิตกนี้เอง ที่ต่อให้เราเรียนภาษาอังกฤษมามากแค่ไหน แต่กลัวจนไม่กล้าเอามาใช้เป็นเหตุให้การเรียนนั้นเป็นการเรียนที่สูญเปล่า โดยเฉพาะถ้าการเรียนนั้นเป็นการเรียนเพื่อเปิดโอกาสให้กับตนเองในอนาคต เพราะแน่นอนว่าสมัยนี้เราต่างเรียนภาษาเพื่อจะนำไปใช้สื่อสารในระดับสากล เพื่อให้ได้รับโอกาสทางการงานที่ดีขึ้น รวมถึงการร่วมงานกับคนต่างชาติ ซึ่งล้วนต้องใช้ทักษะทางด้านภาษาที่หลากหลายทั้ง ฟัง พูด อ่าน เขียน ฉันจึงอยากย้ำเตือนให้คนไทยกล้าที่จะสื่อสาร กล้าที่จะพูดผิด เขียนผิด เพื่อเรียนรู้และเพื่อให้ผู้อื่นช่วยให้เรามีโอกาสพัฒนา ยิ่งในกรณีที่เราต้องสื่อสารกับเจ้าของภาษา หรือการร่วมงานกับบริษัทต่างชาติ เรายิ่งไม่ควรกลัว พยายามเขียนในรูปแบบที่เราคิดว่าถูกด้วยความมั่นใจ เพราะถ้าหากเขาไม่เข้าใจเขาจะถามเรากลับมาเอง จุดนั้นแลที่จะทำให้เราเกิดกระบวนการเรียนรู้และกระบวนการแลกเปลี่ยนซึ่งสามารถพัฒนาความสามารถของเราได้ หากกล้าที่จะเรียนรู้ถูกผิดอยู่ซ้ำๆ สิ่งนั้นจะทำให้เราจำข้อถูกต้องและข้อผิดพลาดที่เคยเกิดขึ้นได้เอง
ทุกๆการเรียนรู้สามารถเกิดข้อผิดพลาดได้เสมอ การเรียนแบบผิดเป็นครูยังใช้ได้ในทุกสถานการณ์ การปล่อยให้ตัวเองค่อยๆศึกษา ล้มลุกคลุกคลานไปกับความกลัวไม่นับว่าเป็นความล้มเหลว เพราะการล้มหนึ่งครั้งไม่ได้แปลว่าเราจะต้องล้มตลอดไป อย่างน้อยๆการล้มหนึ่งครั้งก็ทำให้เราได้รู้ว่าหากล้มครั้งต่อไป เราควรทำอย่างไรถึงจะไม่เจ็บ กับการเรียนภาษาอังกฤษก็เช่นกัน การปล่อยให้ตัวเองผิดไม่ใช้เรื่องน่าอาย คนที่กล้าที่จะสื่อสารทั้งๆที่มีความกลัวอยู่ต่างหากคือคนที่น่าชื่นชม และด้วยความเข้าถึงง่ายของสื่อทุกวันนี้ต่างก็เอื้อให้เราได้เรียนรู้ภาษาอังกฤษนอกเหนือจากการเรียนเชิงวิชาการ การเรียนรู้ผ่านสื่อบันเทิงสามารถทำได้ง่ายมาก เช่น การดูหนังเสียงต้นฉบับพร้อมคำบรรยาย หรือการฟังเพลงให้ได้เรียนรู้วลีต่างๆก็มีอยู่มาก ห้องเรียนภาษาอังกฤษนั้นรายล้อมอยู่รอบตัวเราอยู่แล้ว เหลือเพียงแค่ตัวเราว่าอยากพาตัวเองเข้าไปในห้องเรียนนั้นหรือไม่ และนั่นก็เป็นสิ่งที่คุณจะกำหนดให้ตัวคุณเองทั้งสิ้น
ผู้เขียน
พรชนก วัฒนาณุฐการ (ปู)
ผู้ช่วยฝ่ายการตลาด