ทำไมคนไทยต้องมีชื่อเล่น?
ชื่อเล่นของคนไทยเห็นจะเป็นเรื่องที่ทำให้ชาวต่างชาติงงอยู่ไม่น้อย และหลายคนที่มีเพื่อนต่างชาติคงจะเคยเจอคำถามนี้มาบ้างว่าทำไมคนไทยต้องมีชื่อเล่น อีกทั้งทำไมชื่อเล่นไม่เห็นใกล้เคียงกับชื่อจริงที่แสนจะยาวนั้นเลย ด้วยความที่คนต่างชาติจะคุ้นชินกับ Nickname หรือชื่อเล่นที่ย่อมาจากชื่อจริงเพื่อให้สามารถเรียกกันได้ง่ายๆ เป็นชื่อสั้นๆ ฉายาเก๋ๆ เช่น Jonathan – Johnny, Jeffrey – Jeff, Alisa – Alice, Marcus – Mark เป็นต้น แต่ชื่อเล่นคนไทยดันไปคนละทิศละทางกับชื่อจริง คนชื่อ จิตรกร ก็ไม่ได้ชื่อเล่นว่า จิตร และคนชื่อ ไปรยา ก็ไม่ได้ชื่อเล่นว่า ไปร หรือ ยา ทำเอาชาวต่างชาติไม่รู้จะจำชื่อไหนของคุณดี และส่วนมากชาวต่างชาติจำชื่อจริงคนไทยไม่ได้เนื่องจากชื่อและนามสกุลยาวมากๆ มิหนำซ้ำยังออกเสียงยากอีก ฉะนั้นเราต้องมาท้าวความกันสักหน่อยว่าระบบการตั้งชื่อแบบชื่อเล่นชื่อจริงของคนไทยนี้มีจุดเริ่มต้นมาจากที่ใด
ที่มาของการตั้งชื่อจริง
สมัยก่อนคนไทยไม่มีชื่อจริง มักเรียกกันเป็นชื่อพยางค์เดียวและไม่มีนามสกุล ต่อมาในยุคล่าอนานิคมที่ยุโรปเข้ามาแล้วดูถูกประเทศไทยว่าเป็นบ้านป่าเมืองเถื่อนไม่มีชื่อสกุล ดังนั้นกษัตริย์ไทยจึงออกกฎเกี่ยวกับการตั้งชื่อและนามสกุล แต่ปัญหาก็ตามมาอีกเนื่องจากคนไทยตอนนั้นชื่อซ้ำกันเยอะมาก เพราะนิยมตั้งชื่อแค่พยางค์เดียว เช่น ดำ แดง ชาติ เป็นต้น ดังนั้นจึงมีการออกกฎให้ตั้งชื่อจริงโดยมีความยาวตั้งแต่สองพยางค์ขึ้นไปแล้วค่อยต่อด้วยนามสกุล นั่นจึงเป็นที่มาว่าทำไมลำพังแค่ชื่อจริงของคนไทยที่ยังไม่รวมนามสกุลก็มีความยาวมากกว่าสองพยางค์แล้ว
ในส่วนของการตั้งนามสกุล แรกเริ่มเดิมทีตามธรรมเนียมสากลนั้น การเรียกนามสกุลกันถือว่าเป็นการให้เกียรติกันเป็นอย่างมาก ผิดกับวัฒนธรรมไทยที่การเรียกนามสกุลกันนั้นกลับกลายเป็นเรื่องที่น่าขบขัน วัฒนธรรมสากลไม่ว่าจะเป็นทางฝั่งตะวันตก ยุโรป แม้แต่โซนตะวันออกอย่างจีน ญี่ปุ่น การที่เรียกกันด้วยนามสกุลนั้นมักจะใช้ในโอกาสที่เป็นทางการ เช่น นายมาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ก็จะเรียกอย่างเป็นทางการว่า มิสเตอร์ซัคเคอร์เบิร์ก หรือในโซนตะวันออกเช่นญี่ปุ่น นายนากาโมโตะ ยูตะ ก็จะเรียกอย่างให้เกียรติว่า นากาโมโตะซัง เป็นต้น ทั้งนี้ทั้งนั้นแนวคิดเรื่องการให้เกียรติจากนามสกุลนี้ก็เพราะว่านามสกุลนั้นคือชื่อของตระกูล ซึ่งแสดงให้ผู้อื่นรับรู้ว่าตนเป็นลูกหลานของใคร สืบสายเลือดมาจากใคร ถือเป็นความภาคภูมิใจเชิงสัญลักษณ์อย่างหนึ่ง คิดย้อนกลับมาที่คนไทย ทำไมถึงไม่ชอบให้เรียกนามสกุลห้วนๆเหมือนสากลเขา นั่นก็เพราะว่าคนไทยนั้นไม่เคยมีคอนเซ็ปเรื่องนามสกุล หรือต้นตระกูลตั้งแต่เดิมมาก่อนเลย และธรรมเนียมการใช้นามสกุลของคนไทยที่ไม่ใช่เชื้อสายกษัตริย์เพิ่งเริ่มต้นขึ้นในปี พ.ศ. 2456 หรือในสมัยของรัชกาลที่ 6 นี่เอง โดยพระองค์ทรงมีดำริว่า เพื่อให้คนไทยทันสมัยเหมือนอย่างสากล และการใช้นามสกุลก็เริ่มจากจุดนั้นเป็นต้นมา คนไทยเราจึงไม่ค่อยที่จะคุ้นเคยกับการเรียกขานกันด้วยนามสกุลตั้งแต่ตอนนั้น
การตั้งชื่อจริง และชื่อเล่นในหลายยุคสมัยถัดมา
อย่างที่ทุกคนทราบกันดีว่าในยุคสมัยที่แบบแผนการตั้งชื่อสกุลนั้นถูกระบุลงไปอย่างเป็นทางการแล้ว การคิดริเริ่มตั้งชื่อโดยมีอิทธิพลของภาษาบาลี สันสกฤษเข้ามาเสริมเพื่อเพิ่มความเป็นสิริมงคลแล้วด้วยนั้นทำให้โครงสร้างชื่อภาษาไทยมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้นไปอีก จากที่เคยมีแค่ นายสมชาย ศรีชาติ นางสมหวัง หมายปอง ก็ได้พัฒนามาเป็นชื่อที่มีความสละสลวย มิหน้ำซ้ำยังออกเสียงยากกว่าเดิมไปมาก เหตุนี้เองทำให้ต้องมีการตั้งชื่อเล่นเพื่อให้ง่ายต่อการเรียกขานกัน ผ่านมาหลายยุคสมัย เราจึงเคยชินกับการมีชื่อจริงที่ใช้ในทางราชการ กับชื่อเล่นที่ใช้เรียกกันสั้นๆ พอมายุคปัจจุบัน ผู้ปกครองหลายท่านเริ่มนำคำต่างชาติมาใช้ตั้งชื่อเล่นให้บุตรหลาน โดยไม่อิงความหมายว่าต้องตรงกับชื่อจริง เพราะเหมือนกับว่า ชื่อจริงตั้งไว้เพื่อเป็นขวัญ เป็นความหมายที่ดีเท่านั้น ส่วนชื่อเล่น ตั้งตามความชอบ
ด้วยเหตุผลนี้เองเราจึงมักพบว่าชื่อเล่นของคนไทยนั้นไม่ค่อยสอดคล้องกับชื่อจริงกันสักเท่าไหร่ นอกเหนือจากนั้นการตั้งชื่อเล่นเพื่อเสริมสิริมงคล แก้เคล็ดให้กับเด็กที่เกิดมาอ่อนแอก็ยังมี เช่นเรื่องราวบอกเล่าที่เคยได้ยินมาว่ามีพี่ผู้ใหญ่ท่านหนึ่งชื่อเล่นว่า “เล็ก” ที่ไม่ได้หมายถึงลักษณะเล็กใหญ่ แต่ย่อมาจาก “หมาเล็ก” เนื่องด้วยกลัวว่าผีหรือวิญญาณร้ายจะมาเอาชีวิตของเด็กที่อ่อนแอไป เลยตั้งชื่อคนให้ไม่เป็นคนเพื่อให้เด็กแคล้วคลาดปลอดภัย โดยในประวัติตระกูลเก่าบางสกุลของไทยก็มีรายนามบรรพบุรุษที่มีชื่อทำนองนี้ เช่น หมาโต หมาจู
จะเห็นได้ว่าการตั้งชื่อเล่นของคนไทยนั้นมีความหลากหลายในรูปแบบมาก บางคนชื่อเป็นสัตว์ บางคนชื่อเป็นอาหาร ขนม หรือของเล่น เป็นเหตุให้ชาวต่างชาติพากันงงไปใหญ่ทำไมคนไทยต้องมีชื่อเล่นเป็นสิ่งเหล่านั้น จากบทความนี้ที่เล่าถึงความเป็นมาของการตั้งชื่อเล่นในหมู่คนไทย ฉันหวังว่าคนที่มีเพื่อนต่างชาติคงจะเอาไปอธิบายให้เพื่อนเข้าใจได้บ้างเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ที่มาที่ไป และความหมายของชื่อตนเองที่ไม่สอดคล้องกับชื่อจริงนั้นมาจากจุดไหน รวมไปถึงเหตุใดชื่อจริงของคนไทยถึงอ่านยากและยาวถึงเพียงนั้น
ผู้เขียน
พรชนก วัฒนาณุฐการ (ปู)
ผู้ช่วยฝ่ายการตลาด